วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

“ทางช้างเผือก บนกำแพงเมืองจีน” 1 ใน 10 สุดยอดภาพท้องฟ้ายามค่ำ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 มิถุนายน 2554 16:48 น.
ภาพถ่ายทางช้างเผือก ที่พาดเหนือป้อมปราการกำแพงเมืองจีน โดยเซียวฮวา
เอเยนซี - โครงการศึกษาดาราศาสตร์ระดับโลก The World at Night (TWAN) และ Global Astronomy Month ร่วมประกาศผลการประกวดภาพถ่าย “ท้องฟ้าและแผ่นดิน” จากช่างภาพผู้พิสมัยท้องฟ้ายามค่ำทั่วโลก ใน 2 หัวข้อใหญ่ ทั้ง “ความงดงามของธรรมชาติจักรวาลอันยิ่งใหญ่” และ “มลพิษที่กำลังสร้างปัญหา” โดยมีช่างภาพส่งรูปมาประกวดภาพท้องฟ้าจากทั่วทุกมุมโลก

นิตยสารเนชันแนลจีโอกราฟิก ได้รายงานผลผู้ชนะ 10 คน กับ 10 ภาพมหัศจรรย์ท้องฟ้ายามค่ำ เมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีภาพ “ทางช้างเผือก บนกำแพงเมืองจีน” ติด 1 ใน 10 สุดยอดภาพท้องฟ้ายามค่ำ (Best Night-Sky Pictures of 2011) ด้วย

“แผ่นดินไม่เคยอวดว่ากว้าง แผ่นฟ้าไม่เคยอ้างว่าสูง” ภาพของ เซี่ยวหัว ที่บันทึกความงามของทางช้างเผือกหนือประตูป้อมบนกำแพงเมืองจีน ในเดือนเมษายนปีนี้ สะท้อนกังวานสัจธรรมความยิ่งใหญ่เหนือสรรพสิ่งของธรรมชาติ ด้วยมีอยู่ก่อน และจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปหลังจากที่ทุกสิ่งบนโลกมลายเป็นธุลี

นายบาบัค ทาเฟรชิ ผู้ก่อตั้ง TWAN และ เป็นหนึ่งในกรรมการตัดสิน กล่าวว่า เสน่ห์ของภาพท้องฟ้าจดแผ่นดินนั้นมีมนต์สะกดสายตาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นยามเช้า สาย สนธยา หรือราตรี การถ่ายภาพท้องฟ้า มวลหมู่ดาวในยามค่ำอยู่ร่วมเฟรมเดียวกับผืนแผ่นดิน ยิ่งทำให้เราหลงใหลและรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล

(ชมภาพชนะการประกวด International Earth and Sky Photo Contest ของโครงการ The World at Night และ Global Astronomy Month )

อันดับ 1 (ร่วม)
แสงออโรราสีเขียวมรกต ครอบเป็นโดมทางช้างเผือกเหนือโจกุลซาลอน (Jökulsárlón) ทะเลสาบธารน้ำแข็งใหญ่ที่สุดในประเทศไอซ์แลนด์ ถ่ายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 โดย สเตฟาน เวตเตอร์ (Stephane Vetter)

อันดับ 1 (ร่วม)
ภาพดาวระยิบเหนือกลุ่มหมอกที่ปกคลุมหมู่บ้านริมทะเลสาบทรอนซี (Traunsee) และเทือกเขาแอลป์ ในออสเตรีย ถ่ายเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2553 โดยโทมัส คูรัต (Thomas Kurat)

อันดับ 1 (ร่วม)
ต้นไม้กับมวลหมู่ดาวและลมหายใจของจักรวาล จากประเทศออสเตรเลีย ถ่ายเมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2553 โดย อเล็กซ์ เชอร์นีย์ (Alex Cherney)

อันดับ 2
แสงสว่างของเมืองอีสฟาฮาน (Isfahan) ประเทศอิหร่าน ดูเปล่งปลั่งดังทองที่ปลายของทางช้างเผือก ถ่ายในเดือนเมษายน 2553 โดย Mehdi Momenzadeh ในภาพปรากฏให้เห็นว่ามลพิษกำลังสร้างปัญหาขึ้น ณ ที่แห่งนี้

อันดับ 3 (ร่วม)
สะพานในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ในเดือน กุมภาพันธ์ 2553 ถ่ายโดยมิเกล คลาโร (Miguel Claro)

อันดับ 3 (ร่วม)
ภาพมุมกว้างพาโนรามาของเกาะ เรออืนีอ็อง (Reunion Island) ประเทศฝรั่งเศส ถ่ายในเดือนกรกฎาคม 2553 โดยลุค เปอร์โรต์ (Luc Perrot) เห็นทางช้างเผือกเหนือ Piton de la Fournaise ภูเขาไฟที่ยังคุอยู่

อันดับ 4 (ร่วม)
แม้ว่าแสงไฟจากเมืองเล็กๆ จะบดบังจักรวาล แต่ภาพที่ถ่ายจากภูเขาในเกาะ เรออืนีอ็อง (Reunion Island) ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนกันยายน 2553 โดย ลุค เปอโรต์ (Luc Perrot) นี้ ยังคงเห็นดวงดาวศุกร์สุกสกาว

ภาพถ่ายทางช้างเผือก ที่พาดเหนือป้อมปราการกำแพงเมืองจีน โดยเซียวฮวา
อันดับ 4 (ร่วม)
ภาพถ่ายทางช้างเผือกที่พาดเหนือแนวกำแพงเมืองจีน ถ่ายในเดือนเมษายน 2554 ปีนี้เอง โดยเซียวฮวา ประหนึ่งว่าความยิ่งใหญ่ยืนยงและยาวนานนับพันๆ ปีของมนุษยชาติทั้งหลาย เมื่อเทียบไปแล้ว ต่างเป็นเพียงชั่วกะพริบตาของจักรวาล สรรพชีวิตล้วนเป็นเช่นนี้

อันดับ 5 (ร่วม)
แสงจากพอร์ตแลนด์ โอเรกอน สหรัฐอเมริกา ถ่ายในเดือนธันวาคม 2553 ถ่ายโดยเบน คานาลส์ (Ben Canales)

อันดับ 5 (ร่วม)
ดวงดาวหมุนวนที่ขั้วโลกเหนือ ในเดือนธันวาคม 2553 ถ่ายจากชายฝั่งทะเลสาบโมโน ในแคลิฟอร์เนีย โดย แกรนต์ เคย์ (Grant Kaye)

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

บ้านหลังนี้ ... น่าอยู่มาก

เหมาะสำหรับ ... ไปนั่งเหงานอนเหงา เขียนหนังสืออ่านหนังสือ ไกลผู้คนไกลข่าวสาร








บ้านหลังนี้ ... น่าอยู่มาก

วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554

รู้จัก “กระต่าย” ต้อนรับปี “เถาะ”


สวัสดีปีใหม่ เราก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ก็ถือว่าเป็นการเริ่มปีนักษัตรใหม่ “ปีเถาะ” แม้ว่าปีนักษัตรเราจะนับกันตามปีใหม่ไทย (สงกรานต์) และปีใหม่จีน (ตรุษจีน) แต่ยุคปัจจุบันเพื่อความสะดวก เราก็นับรวมเถลิงศกกันไปพร้อมๆ กับปฏิทินสากล

“เถาะ” ปีนักษัตรลำดับที่ 4 ที่มีกระต่ายเป็นสัญญลักษณ์ ตำราโหราศาสตร์บอกว่า ปีนี้เป็นปีที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดา 12 ปีเลยทีเดียว

ในแง่โหราศาสตร์ดูดวง เสิรมชะตาก็ว่ากันไป แต่เมื่อพูดถึงสัตว์สัญญลักษณ์ประจำปีอย่าง “กระต่าย” แล้ว ทำให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์สนใจศึกษาเรื่องราวของกระต่ายที่จะอยู่กับเรา (ในนาม) ไปถึง 1 ปีเต็มๆ นับจากนี้ …. ดูกันซิว่า เรารู้จักกระต่ายดีแค่ไหน

กระต่ายบ้าน-กระต่ายป่า

“กระต่าย” จัดอยู่ในจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีกระดูกสันหลัง มีลำตัวขนาดเล็ก ขนปุย หูยาว ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า กระต่ายถือกำเนิดมาในโลกเมื่อ 50 ล้านปีมาแล้ว บริเวณทวีปเอเชีย และอเมริกาเหนือ ทั่วโลกมีอยู่ 58 ชนิด จัดอยู่ในวงศ์กระต่ายธรรมดา (Leporidae) 44 ชนิด และวงศ์กระต่ายหูสั้น (Ochotonidae) อีก 14 ชนิด

กระต่ายธรรมดามีขาหลังที่ยาว ทำให้วิ่งได้เร็ว ใบหูยาวหมุนไปมาได้ และมีหางสั้น ส่วนกระต่ายหูสั้นจะมีขาทั้งคู่หน้าและคู่หลังสั้นพอๆ กัน ใบหูจะสั้นเป็นมนกลม และจะไม่เห็นหางจากภายนอก

ในวงศ์กระต่ายธรรมดา ยังแบ่งออกเป็นกระต่ายเลี้ยง (Rabbit) ซึ่งชอบอยู่กันเป็นฝูง และกระต่ายป่า (Hare) ที่ชอบอยู่โดดเดี่ยว

ทั้งนี้ กระต่ายที่พบอาศัยตามป่าทั่วไปในประเทศไทยมีชนิดเดียว คือ กระต่ายป่า (Lepus peguensis) ซึ่งมีขนสีน้ำตาล ใต้หางสีขาว ขุดดินเป็นโพรงอาศัย ส่วนที่นำมาเลี้ยงตามบ้าน มีหลายชนิดและหลายสี แต่ที่พบมากจะเป็นสีอ่อน เช่นสีขาว

กระต่ายเกือบจะเป็นหนู

แม้ว่ากระต่ายจะเป็น “สัตว์ฟันแทะ” ที่มีฟันหน้าขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายหนู แต่กระต่ายเป็นสัตว์ฟันแทะมีฟันหน้า 2 คู่ (lagomorph) ต่างจากพวกหนูหรือกระรอกที่มีฟันแทะคู่เดียว (rodent)

เดิมทีมีการจัดกระต่ายไว้เป็นสัตว์ฟันแทะในอันดับโรเดนเทีย (Rodentia) ร่วมกับพวกหนูและกระรอก แต่เมื่อพบว่ากระต่ายมีลักษณะหลายอย่างเป็นของตนเอง ที่แตกต่างจากพวกหนูและกระรอกมาก โดยเฉพาะกระต่ายที่มีฟันตัด2 คู่ทางด้านหน้าของขากรรไกรบนคู่ที่สองมีลักษณะเป็นปุ่มเล็กซุกอยู่ภายในคู่หน้า ในขณะที่หนูและกระรอกมีฟันตัดเพียงคู่เดียว

ขยายพันธุ์ว่องไว

ถ้าใครเลี้ยงกระต่ายคงจะทราบกันดีถึงความสามารถในการผลิตประชากรกระต่าย โดยกระต่ายบ้านสามารถผสมพันธุ์ได้บ่อย และตั้งท้องปีละหลายครั้ง

กระต่ายเลี้ยงในยุโรปตอนเหนือผสมพันธุ์ในช่วง ก.พ.-ก.ย. ออกลูกได้ 3-5 ครอก ครอกละ 5-6 ตัว สำหรับกระต่ายป่าในซีกโลกเหนือ ออกลูก 2-4 ครอก ครอกละ 1-9 ตัว ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน แต่ในเขตร้อนกระต่ายป่าผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ตัวเมียตั้งท้องเพียง 1 เดือน ปีหนึ่งจึงสามารถออกลูกได้ 4-8 ครอก ลูกกระต่ายที่มีอายุราว 6-8 สัปดาห์จะแยกจากแม่ได้และมีอายุเฉลี่ย 9-12 ปี

ทั้งนี้ ในมดลูกของกระต่ายเพศเมียจะมี 2 ช่อง นั่นหมายความว่า กระต่ายจะสามารถอุ้มท้องตัวน้อยได้ถึง 2 ครอก ที่มีอายุครรภ์ต่างกันได้ในเวลาเดียวกัน

ถ้าไม่ได้กินสิ่งที่ถ่าย มีตายแน่นอน

กระต่ายอยู่ในสภาพแวดล้อมได้หลายแบบทั้งเขตร้อนและหนาว อาหารส่วนใหญ่เป็น หญ้า พืชล้มลุก รากไม้ เปลือกไม้

เวลาอาหารของกระต่าย พวกมันจะกินหญ้าจำนวนมากอย่างรวดเร็ว และขับถ่ายออกมาเป็นเม็ดแข็ง ส่วนที่เป็นเกล็ดของเสียจะไม่ถูกย่อย และเมื่อผ่านการกินอย่างหักโหมไปประมาณ 8 ชั่วโมงกระต่ายจะถ่ายมูลอ่อนออกมา ซึ่งส่วนใหญ่จะตรงกับช่วงกลางคืน

มูลอ่อนดังกล่าวจะมีวุ้นเคลือบ และเมื่อเช้ามาถึงกระต่ายก็จะกินมูลอ่อนเหล่านี้ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียในมูลอ่อน เมื่อสัมผัวกับอากาศจะสร้างวิตามินบางชนิดขึ้น วิตามินเหล่านี้จำเป็นมากต่อสุขภาพของกระต่าย หากไม่ได้กินมูลอ่อนกระต่ายจะตายภายในเวลา 3 วัน

ใช้งานได้ทั้งในครัว-ห้องแล็บ

การบริโภคเนื้อกระต่ายเป็นที่แพร่หลายในหลายพื้นที่ ทั้งในยุโรป อเมริกาทั้งตอนเหนือและใต้ รวมถึงตะวันออกกลาง

แม้ว่าปัจจุบันในอังกฤษจะไม่มีเนื้อกระต่ายวางขายในซุเปอร์มาร์เก็ต แต่ตามร้านขายเนื้อหรือตลาดพื้นเมืองยังมีให้เห็นกันอยู่อย่างแน่นอน โดยร้านจะห้อยกระต่ายตายแล้วที่ยังไม่ได้แล่โชว์กันให้เห็นอันเป็นสไตล์

ที่ซิดนีย์ เคยนิยมกินกระต่ายกันมาก ถึงกับมีชื่อทีมรักบี้ว่า “เซาธ์ ซิดนีย์ แรบบิโทธส์” (South Sydney Rabbithos) แต่ความนิยมบริโภคกระต่ายในซิดนีย์ต้องหมดไป เมื่อเหล่ากระต่ายเลี้ยงโดนโรคระบาดคุกคาม

อย่างไรก็ดี ในแถบภูมิภาคอินโดจีนไม่นิยมกินกระต่าย แต่ก็ใช้กระต่ายเป็นอาหารสำหรับงูใหญ่

กระต่ายทั้งถูกล่าด้วยปืน และส่วนที่เลี้ยงก็จะถูกฆ่าด้วยการทุบด้านหลังหัว เนื้อกระต่ายมีโปรตีนสูง ปรุงอาหารได้หลากหลายชนิดแบบเดียวกับเนื้อไก่ ซึ่งเนื้อกระต่ายที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ “กระต่ายขาวนิวซีแลนด์”

และกระต่ายขาวนิวซีแลนด์นี้ ก็ยังได้รับนิยมนำไปศึกษาและวิจัย ทั้งทางด้านพยาธิวิทยาเพราะเป็นแหล่งของสารที่เร่งให้เกิดลิ่มเลือด ด้านสรีรวิทยาการสืบพันธุ์ ต่อมไร้ท่อ รวมทั้งใช้ทดสอบความปลอดภัยของยาชนิดต่างๆ วัคซีน และทดสอบความเป็นพิษ

บอบบางตายง่าย?

กระต่ายขยายพันธุ์ง่าย และก็ตายง่ายไม่แพ้กัน ผู้เลี้ยงกระต่ายทราบดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน ที่กระต่ายอาจเกิดอาการช็อคตายได้ง่าย เพราะกระต่ายไม่มีต่อมเหงื่อ ระบายความร้อนได้ยาก เมื่ออากาศร้อนกระต่ายจะต้องหายใจถี่ขึ้น ที่จมูกจะสั่นเร็วขึ้น รวมถึงที่เส้นเลือดแดงใหญ่กลางหูจะช่วยทำงานระบายความร้อนมากขึ้น แต่ก็ยังระบายความร้อนไม่ทัน จึงทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงจนช็อคตาย

อย่างไรก็ดี การให้น้ำกระต่ายเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะกระต่ายต้องการใช้ระบายความร้อน แต่ส่วนใหญ่ที่เราเลี้ยงกระต่ายกันก็ให้ผักหญ้า ซึ่งพืชพวกนี้มีน้ำสะสมอยู่ในระดับหนึ่ง ทำให้บางครั้งกระต่ายก็ไม่ต้องการน้ำเพิ่ม แต่หลายคนอาจมีความเชื่อว่าการให้น้ำกระต่าย อาจเป็นเหตุให้กระต่ายตายได้ นั่นอาจจะเป็นเพราะความสะอาดของน้ำหรือภาชนะบรรจุ

นอกจากนี้ ในการจับกระต่าย ไม่ใช่จับที่หูแล้วดึงขึ้นมา เพราะถ้ากระต่ายตัวใหญ่และมีน้ำหนักมาก อาจทำให้เนื้ออ่อนบริเวณหูฉีกขาดได้ แต่ให้ค่อยๆ ประคองตัวลักษณะเหมือนอุ้มเด็ก และให้ทำด้วยความนุ่มนวล โดยเฉพาะหากกอดรัดที่บริเวณท้องอย่างรุนแรงก็จะทำให้กระต่ายได้รับอันตรายถึงตายได้

ปัจจุบัน กระต่ายกลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อมนุษย์นำออกจากป่าไปเลี้ยงและกระต่ายขยายพันธุ์เร็วเกินกว่าจะรับภาระไหว จึงพากระต่ายกลับไปปล่อยแต่ก็กลับไปไม่ถึงป่า ส่งผลให้กระต่ายสร้างปัญหาต่อเรือกสวนไร่นา โดยเฉพาะแนวคันนาหรือสวนที่นิยมใช้หญ้าทำเป็นแนว กลับกลายเป็นแหล่งอาหารชั้นดีให้เหล่ากระต่าย

อย่างไรก็ดี ปัญหาประชากรกระต่ายก็ยังคงสร้างความยุ่งยากให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ที่แม้ไม่ใช่แหล่งกำเนิดของกระต่าย กลับมีปัญหากับการรุกล้ำพื้นที่ของกระต่ายไม่น้อย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้ได้จัดให้กระต่ายเป็น “ศัตรูพืช” ชนิดหนึ่ง เจ้าของที่สามารถจัดการและควบคุมได้โดยถูกกฎหมาย

ส่วนพฤติกรรมของกระต่ายดูเหมือนจะตื่นเต้นตกใจง่ายนั้น เป็นไปตามสัญชาติญาณระวังภัย คำว่า “กระต่ายตื่นตูม” เป็นสำนวนที่มาจากนิทานชาดก อ้างถึงสมัยพระพุทธเจ้า ซึ่งสามารถหาอ่านกันได้ ส่วนปีเถาะหนนี้เราจะเป็น “กระต่ายตื่นตัว” ประกอบกิจการงานและใช้ชีวิตอย่างมีสติก็คงจะดีไม่น้อย.



************************************

เรื่องน่าสนของ "กระต่าย"

- สถิติโลกบันทึกไว้ว่ากระต่ายกระโดดได้สูงที่สุด 1 เมตร

- บันทึกเล่มเดียวกันก็ยังบอกไว้ว่า กระต่ายกระโดดได้ไกลที่สุด 3 เมตร

- กระต่ายครอกที่ใหญ่ที่สุด คือคลอดออกมา 24 ตัว มีบันทึกไว้ถึง 2 ครั้งในปี 1978 และ 1999

- หูกระต่ายที่ยาวที่สุดในโลกคือ 31.125 นิ้ว เป็นกระต่ายอเมริกัน

- กระต่ายที่อายุยืนที่สุดคืออยู่ได้ถึง 19 ปี

- กระต่ายที่หนักที่สุดในโลกมีน้ำหนัก 12 กิโลกรัม

- กระต่ายป่าที่เล็กที่สุดในโลกคือพันธุ์ปิกมี่ หรือ ลิตเติ้ลไอดาโฮ ในสหรัฐอเมริกา มีน้ำหนักน้อยกว่าครึ่งกิโลกรัม

- กระต่ายจะตื่นตัวอย่างยิ่งในช่วงเช้าตรู่และยามเย็นโพล้เพล้

- กระต่ายมองเห็นด้านหลังได้โดยไม่ต้องหันหัว

- กระต่ายมีสีขนมากถึง 150 สี แต่มีสีตาเพียง 5 สี คือ น้ำตาล, น้ำเงิน-เทา, น้ำเงิน,ชมพู (แดง), และลูกแก้ว

- กระต่ายตัวขาวตาแดง เพราะดวงตาของกระต่ายสีขาวอย่างพันธุ์นิวซีแลนด์ไวท์หรือแคลลิฟอร์เนียน ไม่มีเม็ดสี ทำให้เห็นเส้นเลือดสีแดงในตาซึ่งจะ สะท้อนแสงให้เราเห็นตากระต่ายเป็นสีแดง

(ข้อมูลจาก pet-rabbit-care-information.com)

กระต่าย"ฮอร์แมน" หนัก 7.7 ก.ก. หูยาว 21 ซ.ม. และตัวยาว 1 ม.

ตัวอ่อนกระต่ายที่เพิ่งคลอดได้ 1 ชม.

ดวงจันทร์ (ซ้าย) พร้อมทาบกราฟิกตามจินตนาการกระต่ายบนดวงจันทร์ (ขวา)

ลักษณะการอุ้มกระต่ายที่ถูกต้อง จับคอเพื่อประคองใช้มือช้อนก้น และแนบตัวให้หัวซุกเข้าลำตัว (fauvet.fau.edu)

ปะติมากรรมกระต่ายในแคลิฟอร์เนีย แรงบันดาลใจจากตำนานเทพกระต่าย (Bill Bowman / champaign411.com)

กระต่ายขาวนิวซีแลนด์ ตัวขาวตาชมพูนิยมใช้ทดลองและบริโภคเนื้อ


กระต่ายในตำนาน และความเชื่อของชนชาติต่างๆ


"กระต่าย" ไม่ได้เป็นตำนานความเชื่อแต่ในแถบบ้านเรา แต่ก็ยังเป็นสัตว์ที่มีเรื่องเล่าและตำนานอยู่ในหลายชาติ ทั้งในแง่ลบและสร้างสรรค์แตกต่างกันไปตามพื้นที่ที่มีกระต่ายเกี่ยวข้องกับภูมิหลังที่คู่ขนานไปกับการพัฒนาของเผ่าพันธุ์ ไปดูความเชื่อของแต่ละชนชาติที่วิกิพีเดียรวบรวมไว้เกี่ยวกับกระต่ายกัน


* แอซเท็ค มีวิหารเทพกระต่าย 400 องค์ "เซ็นต์ซอน โตต็อชติน" (Centzon Totochtin) และยังมีเทพกระต่ายอีก 2 องค์ชื่อ "โอเมต็อชตลิ"(Ometotchtli) เป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์, การเฉลิมฉลอง และความมึนเมา

* แอฟริกากลาง มีกระต่าย "กาลูลู" (Kalulu) มีบุคคลิกฉลาดแกมโกง มีความสามารถในการต่อรอง

* จีน กระต่ายมีความเกี่ยวพันกับดวงจันทร์ และยังเชื่อมโยงกับปีใหม่จีน กระต่ายยังเป็นหนึ่งในสัตว์ 12 นักษัตริย์ในปฎิทินจีน อีกทั้งเวียดนามก็ยังใช้กระต่ายแทนแมวเป็นสัญญลักษณ์ในปีนักษัตริย์ ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีกระต่ายอาศัยอยู่

*ญี่ปุ่น คนที่นี่เชื่อว่ากระต่ายอยู่บนดวงจันทร์และกำลังทำแป้งโมจิอยู่บนนั้น ความเชื่อนี้มาจากการสังเกตเห็นเงาบนดวงจันทร์ผนวกกับจินตนาการที่มีลักษณะคล้ายกระต่ายกำลังถือสากยักษ์ตำครกกระเดื่อง

*เกาหลี มีตำนานคล้ายกับญี่ปุ่น ที่เห็นกระต่ายกำลังตำแป้งอยู่บนดวงจันทร์ แต่ว่ากระต่ายเหล่านั้นกำลังทำ "ต็อก" เค้กข้าวของชาวเกาหลี

* ตะวันออกไกล ชาวยิวบอกว่ากระต่ายหมายถึงความขี้ขลาด รวมถึงชาวอิสราเอลที่พูดภาษาฮิบรูก็มีคำว่า "กระต่าย" อันหมายถึง "ขี้ขลาด" เช่นเดียวกับคำว่า "ชิกเก้น" ที่แปลตรงๆ ว่าไก่ในภาษาอังกฤษ

* อเมริกากลาง ชนเผ่าโอจิบวี (Ojibwe) ชาวอเมริกันดั้งเดิมมีนานาโบโซ (Nanabozho) หรือเทพกระต่ายผู้ยิ่งใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโลก

* เวียดนาม มองกระต่ายเป็นสัญญลักษณ์แห่งความไร้เดียงสาและอ่อนเยาว์ มีภาพเหล่าทวยเทพขณะกำลังไล่ล่ากระต่าย ก็เพื่อแสดงให้เห็นพละกำลังของเทพทั้งปวง

* เกาะพอร์ทแลนด์ ในดอร์เซ็ต สหราชอาณาจักร ก่อนหน้านี้ชาวเมืองเห็นว่า กระต่ายเป็นสัตว์โชคร้าย และการพูดคำว่า “กระต่าย” จะทำให้ผู้ใหญ่ในบ้านเป็นอันตราย ดังนั้นถ้าใครจะพูดถึงกระต่ายก็จะใช้คำเลี่ยง เช่น เจ้าหูยาว แต่ช่วง 50 ปีหลังมานี้ความเชื่อดังกล่าวก็หายไป ผู้คนบนเกาะสามารถพูดคำว่า “กระต่าย” ได้อย่างเต็มปาก และ “เจ้าหูยาว” ก็กลายเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมา

*ตีนกระต่าย เป็นเครื่องรางที่เชื่อว่าจะนำโชคให้แก่ผู้พกพา ซึ่งความเชื่อนี้มีอยู่ทั่วโลก และพบหลักฐานเก่าแก่ที่สุดในยุโรปช่วง 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช